BACK TO EXPLORE

Lucky Pig

Lucky Pig
โชคดีแบบไทยๆ ไปกับสตูดิโอ This Means That


“ความเป็นไทย คืออะไร?” นี่คือคำถามที่เมื่อถามออกไปแล้วคำตอบที่ได้มักจะหลากหลาย ไม่มีสิ่งที่ถูกต้องตายตัว  สิ่งที่คุณได้เห็นอยู่ตอนนี้ก็นำเสนอความเป็นไทย ในอีกมุมมองหนึ่งเช่นกัน


Miss Well-Come ผลงานการออกแบบชุดแรกในนาม This Means That

สตูดิโอออกแบบ This Means That มีแนวทางในการสร้างผลงานคือ การสร้างความหมายใหม่ให้แก่สิ่งที่เราเห็นจนคุ้นตา สตูดิโอนี้หยิบวัตถุที่แสดงความเป็นไทยมาตีความในแบบของตัวเอง แต่ความเป็นไทยดังกล่าวถอยห่างออกจากภาพจำเดิมๆ อันว่าด้วยลายกระหนก ช้าง หรืองานประณีตศิลป์ หากแต่เป็นของพื้นๆ ซึ่งเมื่อคนไทย (ย้ำว่าต้องเป็นคนไทยในบริบทสังคมปัจจุบัน) ได้เห็นต้องร้องอ๋อ อย่างนางกวัก

This Means That เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของธันย์ชนก ยาวิลาศ และปัญจพล กุลปภังกร ซึ่งมีพื้นฐานจากการออกแบบอุตสาหกรรม จากนั้นธันย์ชนก ไปศึกษาต่อในสาขากราฟิกดีไซน์ ส่วนปัญจพลศึกษาด้านจิวเวลรี เมื่อกลับประเทศไทยทั้งคู่ได้นำศาสตร์ที่ตนเองถนัดมาประยุกต์ใช้ในสตูดิโอที่ก่อตั้งร่วมกัน โปรเจ็กต์แรกของสตูดิโอ คือ “Miss Well-Come นางกวักสไตล์ใหม่ ลดทอนรูปแบบลงเหลือเฉพาะสัญลักษณ์ที่สำคัญ คือ มือกวัก ชุดไทย จากถุงเงินแบบเดิมที่เป็นเครื่องหมายถึงความร่ำรวย พอมาถึงยุคนี้ก็เปลี่ยนรูปเป็นกระเป๋าเบอร์กิ้นและแว่นกันแดดแบรนด์เนม จากนางกวักตามขนบเดิมที่เป็นรูปเคารพหลากสีทรงเครื่องประดับแพรวพราว  Miss Well-Come ทำให้เรียบง่ายโดยเป็นสีเดียวทั้งชิ้น สัญลักษณ์แห่งการค้าขาย ความมั่งคั่ง ของบูชาที่เราพบเห็นได้ทั่วไปตามร้านค้าชิ้นนี้ ได้รับการตีความใหม่ ทำให้คอนเซปต์ของ Miss Well-Come ลื่นไหลไปตามมุมมองของผู้ซื้อ นั่นคือบางคนมองว่าเป็นของตกแต่งบ้าน บางคนมองว่าเป็นงานศิลปะ บ้างก็มอบเป็นของขวัญที่สื่อคำอวยพรแก่ผู้ที่เปิดร้านค้า หรือบางคนมองว่าเป็นวัตถุมงคล (จากการที่มีลูกค้ากลุ่มที่ชอบเล่นพระเครื่องเดินเข้ามา แล้วใช้คำว่า “ขอเช่าได้ไหม!”)


ผลงาน Soul Mate จาก This Means That

หลังจากความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของ “Miss Well-Come” This Means That ต่อยอดโปรเจ็กต์นี้โดยสร้างชิ้นงานในเวอร์ชั่น “Marble Edition” เป็นนางกวักลายหินอ่อน และ “Soul Mate” นางกวักในรูปแบบคล้ายพระเครื่องสไตล์ใหม่ เป็นของตกแต่งที่ยึดโยงกับความเชื่อโชคลางเรื่องการหาคู่แท้ เท่านั้นยังไม่พอ สตูดิโอนี้ยังไม่หยุดหยิบยกโจทย์เรื่องโชคลางมาตีความออกมาเป็นไอเท่มสนุกๆ ด้วยการออกโปรเจ็กต์ “Lucky Pig” เพื่อเล่นกับโลกทัศน์ของคนไทยซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อไรที่พบสัตว์เกิดมาผิดปกติ เราเชื่อว่าสัตว์ตัวนั้นจะนำโชคมาให้ ผลงานหมูสองหัวออกมาในรูป object และรูปแบบคล้ายพระเครื่องเช่นเดียวกับนางกวัก



ผลงาน Lucky Pig จาก This Means That

นอกเหนือจากคอนเซปต์แล้ว การผสานระหว่างไทยและเทศรวมไปถึงเรื่องกระบวนการสร้างงานด้วย This Means That ให้ความสำคัญกับงานช่างฝีมือแบบขนบไทยโบราณ โดยร่วมมือกับช่างผู้เชี่ยวชาญด้านการแกะสลักขี้ผึ้ง แกะชิ้นงานและสร้างพิมพ์เหมือนการสร้างพระพุทธรูป จากนั้นหล่อด้วยเรซิ่น การผสมผสานข้ามศาสตร์อย่างมีชั้นเชิงนี้เอง ทำให้ผลงานของสตูดิโอโดดเด่นแปลกใหม่ สามารถสื่อสารได้ทั้งในไทยและสากล ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้พบเห็นตีความผลงานได้หลากหลาย


พบกับนางกวัก และหมู 2 หัวจาก This Means That ได้แล้ววันนี้ที่ ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

YOU MAY ALSO LIKE