BACK TO EXPLORE

How “Menswear” defined by Englishmen

How “Menswear” defined by Englishmen
สัมผัสมิติของคำว่า Menswear ในแบบฉบับเกาะอังกฤษไปกับ Hackett London


เมื่อคำว่า Menswear ในยุคสมัยนี้เริ่มมีบทบาทในความคิดของผู้ชายศตวรรษที่ 21 ทุกคน เวลาเราพูดถึง Menswear คำหลวมๆนี้มีแนวทางอยู่พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของ การแต่งตัวในรูปแบบที่เป็นฟอร์มชัดเจน สามารถบ่งบอกว่านี่คือการแต่งกายของสุภาพบุรุษ ในขณะที่เรายังไม่จำเป็นต้องแตะไปถึงคำว่าทางการหรือเนี๊ยบใดๆทั้งสิ้น เรื่องของเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้มีคาแรคเตอร์เหมาะสมสำหรับสุภาพบุรุษแท้จริง และเมื่อเราแตกออกแล้ว ในแต่ละเรื่องราวของประเทศใดๆ ต่างก็มีทิศทางของสไตล์บุรุษที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแม้แต่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์น้องใหม่อย่างอเมริกา ที่มีผลผลิตของการเป็นผู้นำทิศทางกระแสต่างๆในโลกยุคใหม่ ก็ผลิตสมการของการแต่งกายที่มีสไตล์เฉพาะของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน คำถามก็คือ ถ้าเราพูดถึงเกาะอังกฤษ เคยมีใครที่สามารถบัญญัติตัวอย่างของสไตล์ที่อาจจะมีหรือไม่มี เอกลักษณ์ของประเทศผู้ดีแห่งนี้ได้ไหม?


The Story
มีอยู่แบรนด์หนึ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาอย่างยิ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องมักมองข้ามของผู้ชายเช่นนี้  Hackett เป็นแบรนด์สัญชาติอังกฤษแบบเต็มตัว ที่ยังยืนหยัดและแสดงตัวตนของความเป็น Menswear แห่งเกาะอังกฤษที่ชัดเจนที่สุดแล้วในเวลานี้ ย้อนไปในช่วงปี 70s Hackett ได้ถูกเริ่มก่อตั้งและดำเนินการโดย Mr.Jeremy Hackett โดยแรกเริ่มเดิมที  เขาร่วมเปิดร้านขายเครื่องแต่งกายที่ใช้งานแล้ว (มือสอง) กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ใน Chelsea, London ด้วยความที่ทุกครั้งเวลาไปเดิน Flea Market ที่ปารีส เขาตั้งคำถามเสมอว่าทำไมเสื้อผ้าอังกฤษใช้งานแล้วในอดีต ที่ซึ่งมีความถูกจริตและน่าจับตามองเหล่านี้ ถึงไม่ค่อยได้เห็นบนท้องถนนที่อังกฤษยุคสมัยนั้น แต่กลับต้องข้ามน้ำนำมาวางขายกันถึงที่นี่ (ในเวลาหนึ่งที่่ผู้คนอังกฤษก็ชื่นชอบให้ความสนใจเอาสไตล์ของอิตาลีที่ดูร่วมสมัยกว่าและมองว่าเสื้อผ้าอังกฤษมีความเชย สวมใส่แต่เฉพาะในคนที่อยู่ยุคเก่าหรือมีอายุเท่านั้น) 



ร้าน Hackett แห่งแรกที่ Jeremy Hackett ได้ร่วมก่อตั้งขึ้น ณ ถนน Kings Rd.

จากการมองเห็นคำถามตรงนี้นำไปสู่การตัดสินใจที่ Hackett เลือกที่จะเป็นคนรับของจากพ่อค้าและนำมาจัดการส่งต่อเองในใจกลางกรุงลอนดอน อาศัยสายตาและรสนิยมเฉพาะตัวในการเลือกเสื้อผ้าของเขา จึงเกิดเป็นร้าน Hackett ขึ้นมา แม้จะเป็นเสื้อผ้าใช้แล้ว แต่สินค้าที่ Hackett หยิบนำมาขาย ล้วนจะต้องเป็นงานคุณภาพดีเยี่ยม มีเอกลักษณ์และการตัดเย็บที่สวยงามระดับที่ไม่แพ้ของใหม่ ต่อมาในภายหลังเสื้อผ้าเหล่านี้ก็ได้เริ่มขาดมือออกไปตามจำนวนที่มีจำกัดในตลาด เป็นอีกครั้งที่ปัญหานำไปสู่การพัฒนาของแบรนด์ Jeremy จึงตัดสินใจที่จะออกแบบเสื้อผ้าของตนเองขึ้นมา ภายใต้แบรนด์ชื่อเดิม ด้วยแนวคิดและคอนเซปต์การออกแบบที่เขาเชื่อมั่นว่าเข้าใจและรู้จักสิ่งที่ทำอยู่มากถึงมากที่สุด นำมาบวกกับให้เวลาเหล่าบุรุษอังกฤษทั้งน้อยใหญ่ได้ใช้เวลาทำความรู้จักกับผลงานของแบรนด์ ผลลัพธ์ก็คือจุดที่ยืนอยู่ระดับโลกของ Hackett ทุกวันนี้


The Blueprint
แม้คำถามของเรายังคงอยู่ในเรื่องภาพจำของการแต่งกายสุภาพบุรุษอังกฤษ เป็นอย่่างไรยังออกมาคลุมเคลือ แต่สาเหตุที่เราจำเป็นต้องเล่าย้อนไปถึงที่มาของแบรนด์ นั่นเพราะมันเป็นสิ่งที่ล้วนตอบสนองกับแนวคิดหลักในการผลิตก้อนความคิดสำคัญของแบรนด์และความหมาย Menswear ชาวอังกฤษที่ Jeremy Hackett คิดขึ้น ด้วยการสังเกตจากการเปิดร้านขายเสื้อผ้าใช้แล้วที่เขาคัดเองกับมือ บวกกับความต้องการของลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านและบรรดาผู้คนบนท้องถนน จากสไตล์ของชาวอิตาลีที่ดูมีจริตจะก้านชัดเจนเด่นชัด หรือแม้แต่ฝรั่งเศสที่มีภาพลักษณ์ของการแต่งกายผู้ชายที่พอดีให้คนนอกจดจำได้ สำหรับอังกฤษ สิ่งที่เขามองเห็นคือ วิถีการแต่งตัว Old England จากอังกฤษในยุคเก่าที่ถูกมองว่าเชย (ที่แม้แต่เจ้าพ่อดีไซน์เนอร์ฝั่งอเมริกา Ralph Lauren เองก็ยังเคยกล่าวในหลายบทสัมภาษณ์ว่าเขาได้รับอิทธิพลจากการแต่งตัวบนเกาะอังกฤษในอดีตและนำไปปรับประยุกต์เกิดเป็นสมการของตนเอง)


Jeremy Hackett ชายผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Menswear สัญชาติอังกฤษ ชื่อเดียวกันกับนามสกุลของเขา

กับรูปแบบของบุรุษบ้านเมืองฝนตกตลอดปีนี้ ล้วนแต่งตัวด้วยความง่ายและสามารถปรับใช้กับทุกโอกาส แม้ไม่จำเป็นต้องมีตัวเลือกมากมาย แต่ไม่ละทิ้งความรู้สึกของความทางการและดูมีกลิ่นของผู้ดี  หากมีงานสังสรรค์ในปีๆนึง ชาวอังกฤษจะขอเสื้อเก่งสักตัวสองตัวในการใช้ออกงาน แน่นอนว่าเสื้อผ้าจะต้องมีคาแรคเตอร์ที่ มีความคงทนสามารถอยู่คู่กับตู้เสื้อผ้าประจำตัวของผู้ชายในทุกสมัย จากความเรียบๆที่ดูไม่มีเอกลักษณ์หวือหวาเหล่านี้ เป็นสิ่งที Hackett หยิบมาเป็นคอนเซปต์ชั้นดีในการกรอบ Menswear ฉบับเกาะอังกฤษของเขา เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขากล่าวว่า…

“I think on the whole, men don’t like to get it wrong and feel foolish, and basically I think that outside of the fashion world, men on the whole are quite conservative. So I think we’ve sort of fulfilled a niche that while it’s fashionable, it’s not cutting edge. I like to think that we’re maybe one step ahead of the customer rather than three.”
-Jeremy Hackett-

คำกล่าวจากปากผู้ที่ก่อตั้งข้างต้นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนและจุดยืนของแบรนด์ Hackett เป็นที่สุด “ผมคิดว่าทั้งหมดทั้งปวง ท้ายที่สุดแล้วเรื่องการแต่งกายของสุภาพบุรุษ พื้นฐานคือผู้ชายสนใจเรื่อง ความรู้สึกที่ไม่ดู “ผิด” และรู้สึกเด๋อด๋าเมื่อใส่มัน ถ้าลองนึกดูดีๆอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่านอกเหนือไปจากโลกของแฟชั่นที่ต้องใช้ความหวือหวาตลอดเวลา ผู้ชายส่วนใหญ่ล้วนมีมุมมองต่อการแต่งตัวด้วยความอนุรักษ์นิยมไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราพยายามยึดและทำมัันออกมา แม้ไม่ลืมที่จะต้องมีความแฟชั่นประกอบอยู่แต่ก็ต้องไม่มากและน้อยเกินไปด้วยเช่นกัน ถ้าพูดง่ายๆคือ หากจะต้องคิดเยอะกว่าลูกค้าในแง่ของการออกแบบ ผมก็ขอเลือกที่จะคิดนำไปหนึ่งก้าว แทนที่จะพุ่งไปถึงสามก้าวจนคนอาจจะก้าวไม่ทันหรือไม่เข้าใจไปเลย”

นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เวลาเรามองถึงคอลเลคชั่นต่างๆของ Hackett  มากไปกว่ารูปโลโก้ที่เป็นหมวกและร่มตามแบบฉบับเกาะอังกฤษที่อาจจะดูเป็นแค่ภาพนอกที่สัมผัสได้เกินไป คำแรกเลยคือเสื้อผ้าที่มีความง่ายและร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส และไม่ดูมากหรือน้อยจนเกินไป




สำนักงานและช็อปใหญ่ปัจจุบันของ Hackett London ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


The Present Moment
กล่าวถึงแนวโน้มการเคลื่อนไหวของ Hackett ในปัจจุบัน ด้วยอายุการเดินทาง 40 ปี แบรนด์สัญชาติอังกฤษนี้ ถ้าเทียบกับชื่อ Menswear ชื่ออื่นๆก็ยังถือว่าเป็นผู้เล่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่สนามที่ใหญ่และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเดินทางที่ตอนนี้ Hackett ควบคุมดูแลโดย Dunhill เพิ่มกำลังในด้านการขยายตัวมากขึ้น ทำให้มี Flagship Store ปรากฎให้เห็นชัดอยู่ในทวีปยุโรป ไปจนถึงโลกฝั่งตะวันออกอย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น และอีกมากมาย


แคมเปญ Essentially British ที่ช่วยตอกย้ำความเป็น Menswear ฉบับอังกฤษ และทำให้เราเข้าใจส่วนผสมคาแรคเตอร์ Hackett London ในยุคหลังนี้มากขึ้น


ในคอลเลคชั่น Spring/Summer 2012 ของ Hackett แสดงให้เห็นการออกแบบที่ยังคงเนื้อหาความเป็นสูทอังกฤษยุคสมัยก่อน แต่ก็ผนวกกับฟิตติ้งของสูทที่เข้ารูปมากขึ้น

สำหรับ Jeremy Hackett ชายผู้ที่เป็น Mastermind อยู่เบื้องหลังผลงานของ Hackett ที่ทุกวันนี้นอกจากจะคงสถานะเป็น Brand Ambassador ปรากฎตัวตามงานแข่งเรือหรือบนสื่อต่างๆด้วยตนเอง เขายังได้ทีมดีไซน์เนอร์เลือดใหม่มาผลัดเปลี่ยนร่วมกัน อย่างเช่น Michael Sondag ดีไซน์เนอร์อเมริกัน ที่เคยทำงานร่วมกับ Tommy Hilfiger มาก่อน นำพากลิ่นอายที่มีความ Preppy สนุกสนานและเป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่ เป็นส่วนผสมเคมีที่แสดงให้เห็นการผ่านเวลา จนเกิดเป็นคอลเลคชั่นที่เราจับถึงระหว่างคำว่า Old England หรือ New England ได้หลอมรวมเข้าไว้จนแทบจะเหลือเพียงเส้นบางๆแล้ว ความร่วมสมัยที่ทอนกับความอนุรักษ์แบบลงตัวตรงนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เรารอคอยเห็นผลงานใหม่ของพวกเขาเสมอๆในทุกๆปี


เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ถึงวันนี้แบรนด์เกาะอังกฤษ Hackett ได้เปิด Flagship Store แห่งแรงที่เมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถพบกับผลงานและจริตฉบับบุรุษอังกฤษ ได้ด้วยตัวของคุณเองที่ Siam Discovery ชั้น M (His Lab)

YOU MAY ALSO LIKE