BACK TO EXPLORE

พสุธารา ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อว่า “โลกนี้ต้องดีขึ้นกว่าเดิม”

พสุธารา ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อว่า “โลกนี้ต้องดีขึ้นกว่าเดิม”
ฟังเสียงหัวใจตัวเอง แล้วคุณจะพบว่าโลกรอดูแลคุณอยู่...

จากน้ำผลไม้แค่ขวดเดียวกลายเป็นแรงบันดาลใจและความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ว่าพืชเป็นยาจากธรรมชาติที่ดีที่สุด เกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณอ้อย - ดรุณี วัฒน์นครบัญชา ศึกษาหาความรู้เพื่อดูแลตัวเองจากโรคประจำตัวอย่าง SLE แทนการกินยาสเตียรอยด์ น้ำผักผลไม้เหล่านั้นได้แบ่งปันไปให้กับคนอื่นใกล้ๆ ตัว บุกเบิกที่ดินในอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี พร้อมๆ กับลูกชาย คุณบาส - ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา กลายมาเป็นแบรนด์ “พสุธารา” ที่แปลว่าดินกับน้ำ ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดชีวิตที่พวกเขาตั้งใจทำออกมาให้บริสุทธิ์ที่สุด ต่อยอดออกมาเป็นอีกแบรนด์อย่าง Ali ที่ต้องการให้เกษตรกรผู้ปลูกได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำจริงๆ



“ตอนแรกทุกอย่างก็ทำเพื่อตนเอง ออกแบบตามที่เราชอบ คุณแม่เห็นว่ามีพืชผักอะไรน่าสนใจก็ลงมือทำ เห็นเลมอนว่าสวยดีมีโอกาสที่จะปลูก ขยับขยายได้ และสิ่งที่คุณแม่มีอยู่ในใจเสมอคือ ไม่ชอบให้ของที่รักถูกทิ้ง เลยผลักดันผลผลิตต่างๆ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมายบนหลักการ Purifying Life ส่งต่อวิถีชีวิตที่บริสุทธิ์” จากคนเมืองไม่รู้จักใครในพื้นที่ คุณแม่อ้อยและคุณบาสค่อยๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่และสร้างมิตรภาพได้อย่างลงตัว “การมาอยู่ที่นี่ ผมคิดแค่ว่าเราจะสร้างเพื่อนได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นทีมงานที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่วันแรก มีกระบวนการคิดการทำงาน อาจมีความแตกต่างบ้าง เช่น ความเนิบช้าของพื้นที่กับความเร่งเร็วของเมือง จังหวะชีวิต วิถีที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่ประเด็นในการสร้างสัมพันธ์มากนัก”





ไร่มันกับการปลูกเพื่อเปลี่ยนชีวิต
คุณแม่อ้อยเล่าย้อนถึงวันแรกที่มาเห็นที่ดินผืนนี้ จากไร่มันแล้งๆ แต่พอเดินเข้ามาเห็นต้นไม้ทอดไปที่ลำธารสวยมาก เลยซื้อเก็บไว้ ปีแรกมีคนมาติดต่อขอซื้อที่ตรงนี้ได้กำไร 14 ล้านบาท คุณแม่คิดจะขายทันทีแต่มีวันหนึ่งที่เห็นภาพหมอกประดับอยู่เต็มภูเขาทำให้คุณแม่อ้อยเปลี่ยนใจ แล้วลุกขึ้นมาค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เริ่มจากปลูกผักไว้กินเองในครอบครัว เป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ นับตั้งแต่วันนั้นคุณแม่ก็ลุยปลูกเลมอนสีเหลืองสดใส ลงเงินที่ตั้งใจเก็บไว้ในวัยเกษียณมาทำการเกษตรต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นโมเดลที่ทำขึ้นมาจากสองมือจริงๆ




“แม่เป็นคนป่วย SLE มาก่อน ศรัทธาว่าพืชคือยา เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ปลูกเอง สดจากต้นน่าจะดี และเลมอนก็มีงานวิจัยว่าถึงจะเป็นกรด แต่เมื่อเผาผลาญแล้วให้ค่าความเป็นด่างในร่างกายที่สมดุล ลองเริ่มปลูกเลมอนหนึ่งต้น ไปซื้อเขามาราคา 4,000 บาท แล้วเพิ่มเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพัน ดูเองว่าเขาปลูกกันอย่างไร ผ่านมาปีกว่าๆ ผลดกมาก ต้นหนึ่งได้ 200-300 ลูก ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เคยไปเที่ยวเห็นเขาขายเลมอนสไลซ์ในน้ำผึ้งกระปุกละ 1,500 บาท พอทำเองก็ไม่ได้ง่ายแบบที่คิด เข้าใจว่าทำไมถึงแพงแต่เราขายในราคา 500-600 บาท ส่วนที่เหลืออย่างผิวเลมอนเราก็ไม่ทิ้ง นำมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับใครสักคน ไปปรึกษามหาวิทยาลัยเรียนรู้วิธีสกัด กลั่นน้ำมันหอมระเหยเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ของใช้ต่างๆ ลามไปที่พืชของชาวบ้าน จากเครื่องกลั่น 1 เครื่องเป็น 5 เครื่อง กลั่นมะกรูด ตะไคร้ของชาวบ้าน ตอนนี้ถึงเราจะเอาเงินเกษียณทั้งหมดมาใช้ แต่เราดีใจนะ เพราะที่นี่คือซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานที่พักผ่อน เป็นครัวของเรา มีอาหารของเราเอง”




สิ่งที่คุณแม่ภูมิใจในการสร้างพสุธาราขึ้นมา วันนี้ได้เปลี่ยนความเชื่ออะไรไปหลายๆ อย่าง เช่น การเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ ที่คนในไร่เคยเกิดความสงสัย แต่ตอนนี้กลายเป็นความศรัทธาแทน พสุธาราจึงเป็นแบรนด์ที่นำเสนอคุณค่าของพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรีอย่างแท้จริง คุณบาสบอกว่าพสุธาราไม่ใช่แค่การมาตั้งอยู่ที่ราชบุรีในเชิงพื้นที่ แต่มีมุมของคน วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย




“เราจะทำให้สวนผึ้งเป็นมากกว่าเมืองท่องเที่ยว จุดนี้ทำให้เราเริ่มออกไปทำงานกับคนอื่น ถ้าให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยคือการพยายามทำงานกับคุณครูท่านหนึ่ง ผมมีกิจกรรมที่เรียกว่า “Random Expedition” คนที่มาไร่ในวันที่ผมอยู่ทุกๆ เสาร์ 4 โมงเย็นผมจะพาทุกคนขึ้นรถนักเรียนไม่บอกว่าไปไหน ผมจะพาไปตามสถานที่ต่างๆ ไปดูบ้านเพื่อนที่ปลูกผักหลังบ้าน ไปวัดให้เห็นวัฒนธรรม จุดชมวิวที่มีแต่คนในพื้นที่ที่รู้ ให้คนเห็นแหล่งอาหารยอดเยี่ยม ภูมิทัศน์ที่สวยงาม ผมรู้สึกว่าเด็กๆ ที่นี่อาจจะโตมากับความเชื่อว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยพาน้องๆ มาพบกับคนเมืองให้เขาเห็นว่าสวนผึ้งมีอะไร เด็กๆ หลายคนไม่เคยออกจากบ้านเกิน 3 กิโลเมตร แต่ผมได้พาเขาไปสุดริมเขา แค่นี้ก็เป็นคุณค่าเล็กๆ ให้เขาเห็นคุณค่าของบ้าน ผู้คน สิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ในใจคนให้งอกงามด้วยดินและน้ำที่ดี นี่คือความเชื่อของผม”


โลกที่ดีขึ้นคือการได้ทำเพื่อคนอื่น
คุณบาสเติบโตขึ้นเพื่อเรียนรู้ว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเองอีกต่อไป เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับธรรมชาติของคนอื่นและสิ่งแวดล้อมและความคิดเหล่านี้ก็เป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น “เมล็ดพันธุ์ในการทำเพื่อคนอื่นมาจากการที่เห็นคุณแม่ทำ จากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยที่เขามีกิจกรรมให้เราทำเพื่อคนอื่น และนี่คือจังหวะและโอกาสที่เราได้ลงมือทำจริงๆ เป็นการทำงานร่วมกับคนอื่นแบบได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทุกคนได้ประโยชน์จากพื้นที่ นี่คือความตั้งใจของพสุธารา ตอนนี้ผมเริ่มทำแบรนด์ที่ชื่อว่า Ali เป็นแบรนด์ใหม่ที่คิดใหญ่ขึ้นไปอีก เราจะทำอย่างไรให้แหล่งปลูกที่ดีเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ที่ปลูกจริงๆ และทำอย่างไรที่จะนำวัตถุดิบทางการเกษตรเหล่ามาเป็นของใช้ได้ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ ทดลอง เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้โลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม



สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก คำถามที่อยู่ในใจฝังแน่นจนทำให้ต้องคิดและลงมือเปลี่ยนไปด้วยกัน “ผมเคยถามปู่ว่าทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีกระซู่กับแรดในป่าให้ดูแล้วล่ะ นกที่ปู่เคยเล่าว่ามีเยอะ ทำไมเดี๋ยวนี้หายาก เดินเข้าป่าแต่ละครั้ง ดอกกล้วยไม้หายไปไหนหมด หรือวัวแดงทำไมถึงหายไป อาจจะอยู่ที่เราโตมาอย่างไร และพอมนุษย์ตั้งตัวเองเป็นแกนกลางของโลกจะเกิดธุรกิจที่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าผมมีโอกาสได้ทำ ผมจะทำธุรกิจที่ดีกับผู้คนและโลกแล้วกัน”




ผลที่เห็นชัดที่สุดอาจไม่ใช่ตัวเงินกับยอดขายที่พุ่งทะลุเพดาน แต่เป็นการได้สร้างความหวังให้คนใกล้ๆ ตัวต่างหากที่ทำให้คุณบาสมีความสุขทุกๆ วัน “แค่ผมทำให้เขามีความหวังว่าชีวิตของเขาดีขึ้นได้ ลูกหลานดีขึ้น แค่นี้พอแล้ว เพราะมันตอบโจทย์ชีวิตผม ผมอยากให้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทุกวันนี้เปลี่ยนลูกค้ามาเป็นเพื่อน มาสวนผึ้งแล้วมีอะไรน่าสนใจ อีกอย่างหนึ่งคือคุณแม่ผมก็มีความสุขและหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองทำ วันนี้ผมคิดว่าแม่ค้นพบ “แพชชั่น” ของเขา ในตอนอายุ 50-60 แล้วเปล่งประกายออกมาทางสายตา การกระทำ การพูด ความมั่นใจของเขา ในความเสี่ยง ความเหนื่อย ความล้มเหลวก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ทั้งหมดไม่ได้สำเร็จมาตั้งแต่วันแรก เราล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี ถึงธุรกิจจะไม่ได้คืนทุน แต่คิดว่าได้ขนาดนี้ก็คุ้มแล้ว”


เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันทำในสไตล์ของตัวเอง
ถึงจุดนี้การมองโลกของคุณบาสไม่ใช่แค่สร้างแบรนด์ แต่สร้างชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกับคนอื่น “ต้องพาทุกคนมามีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2535 เคยมีนโยบายเรื่องการกำจัดขยะ วันนี้ปี 2563 ทุกอย่างยังดูเหมือนเดิม เสียงของผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ผมเชื่ออย่างมากว่าถ้าเราช่วยกันพูด เหมือนที่ Ecotopia ของสยามดิสคัฟเวอรี่มาช่วยกันบอกออกไปว่าคนนี้ทำสิ่งนี้ คนนั้นทำสิ่งนั้น แตกต่างแต่เหมือนกัน ถึงคนเราจะไม่เหมือนใคร แต่เรามีหลักยึดเชื่ออย่างหนึ่งเหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงถึงจะเกิด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำแน่ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการสร้างความรู้ให้กับผู้คน แต่การสร้างความรู้ต้องใช้เวลา ทรัพยากร พลังงานและความตั้งใจ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนจริงๆ เราต้องทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาเป็นเมล็ดพันธุ์ในใจคน”





การใช้ชีวิตแบบคนอีโค คุณบาสย้ำว่าต้องทำให้เป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับทุกคน วันนี้ยังไม่ได้พกแก้ว ลองออกไปดูว่ามีแก้วทัมเบลอร์ที่ใช้ซ้ำได้แล้วเลือกแบบที่คุณชอบ พกใส่กระเป๋าสะดวก บางครั้งออกไปข้างนอกแล้วต้องใช้หลอดก็ใช้ได้ ทางร้านก็แค่หาทางเลือกเป็นหลอดกระดาษมาใช้แทน ทุกคนถ้อยทีถ้อยอาศัยหาทางกัน ไม่โทษว่าใครทำดีหรือไม่ดี ไม่แบ่งแยกว่าใครต้องกรีนกว่าใคร มาหาแนวทางด้วยกันดีกว่า เพราะถ้ามัวแต่กลัวทำผิด ชีวิตนี้คงไม่ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลง




ทุกวันนี้คุณแม่อ้อยได้ทำ “พสุธารา” เปลี่ยนอาหารและพืชให้เป็นยา ของที่อยู่ใกล้ตัวมีประโยชน์กับทุกคนได้ เป็นแบรนด์ที่นำเสนอคุณค่าของพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรีให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และคุณบาสก็สวมหมวกอีกใบในการผลักดันแบรนด์ Ali ที่ใส่ชีวิตกับโลกใบนี้เข้าไปในทุกโปรดักท์ โตไปพร้อมกับเกษตรกรผู้ปลูก และพร้อมที่จะฟังเสียงร่างกายตัวเองซึ่งคุณสามารถมาค้นพบความหมายของ “พสุธารา” และ “Ali” ไปพร้อมกับการหาค้นหาคำตอบเพื่อสร้างสร้างโลกที่ดีขึ้นไปพร้อมกันได้แล้ววันนี้ที่ร้าน Ecotopia ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่




YOU MAY ALSO LIKE