BACK TO EXPLORE

เขาไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่เขาเสก “ขยะ” กลายเป็นห่วงโซ่ของทุกสิ่ง ที่มีไส้เดือนนำพาไป

เขาไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่เขาเสก “ขยะ” กลายเป็นห่วงโซ่ของทุกสิ่ง ที่มีไส้เดือนนำพาไป
ชายหนุ่มเกษตรกรกับฟาร์มไส้เดือนกลางกรุงฯ

ชายหนุ่มเกษตรกรในเมือง “ลุงรีย์” หรือ ชารีย์ บุญญวินิจ เจ้าพ่อแห่งไส้เดือนกับฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนในเมือง เขามีใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ชุดเอี๊ยมหมีกับหมวกสาน เพียงไม่กี่วินาทีก็รู้ว่าผู้ชายคนนี้มีความสุข เขาได้สร้างเมืองแห่งเกษตรครบวงจรเล็กๆ ในบ้านของเขาเอง Ecotopia จึงขอเชิญลุงรีย์มาเป็นหนึ่งในครีเอเตอร์รักษ์โลก เพื่อให้ Ecotopia และเขาได้ช่วยกันต่อยอด เชื่อมโยงคนเมือง และคนอื่นๆ ในโลกต่อไปอีกด้วยกัน เพราะเราเชื่อเหมือนกันว่า “เราสร้างโลกที่ดีขึ้นได้ด้วยกัน”





เรื่องราว ความคิด หัวใจ และความสุขของลุงรีย์เริ่มมาจากว่า…
“มันเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น เราเสียดายว่าเศษอาหาร เวลาทำเราครัว เราโกยมันทิ้งเป็นขยะ เราเกิดสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้มันไปเป็นประโยชน์อะไรได้บ้าง อย่างน้อยก็หมักปุ๋ยนั่นล่ะ” และที่เป็นไคลแม็กซ์ให้ลุงรีย์มาค้นเจอความมหัศจรรย์ของไส้เดือน ที่ไม่มีใครคิดว่าเขาทำอะไรได้มากกว่าพรวนดินก็คือ  “พอดีตอนนั้นไปบวชเป็นพระ เขาบอกว่าไส้เดือนไปอยู่ตรงไหน ตรงนั้นดินดี ก็เลยศึกษาเพิ่มเติม ปรากฏว่าไส้เดือนมันสามารถจัดการกับเศษผัก ผลไม้ได้ แม้แต่เศษผักในตลาดที่มีสารพิษ ก็ลำเลียงผ่านลำไส้ไส้เดือน แล้วก็กลายเป็นปุ๋ยที่ดีได้” สมการของลุงรีย์ก็เริ่มขึ้นจากความเสียดาย เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้เหลือ ไม่อยากทิ้ง เจอกับไส้เดือน กินเศษขยะเหล่านี้ และกลายมาเป็นปุ๋ย






เมื่อเขาค้นพบอาหารของไส้เดือนแล้ว จึงเริ่มหาทางเอาไส้เดือนมาอยู่กับชีวิตจริงๆ
และเริ่มปลูกผักตามมา
วิถีที่ลุงรีย์เลือก ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็คือต้องเข้ากับชีวิต อย่ายากและอย่าเยอะเกินไป เขาจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราแค่มีเศษอาหารเหลือๆ ก็เอามาเลี้ยงไส้เดือนได้นี่นา จนถึงขั้นพาไส้เดือนเข้าไปอยู่ในชีวิตด้วยกันเลยแล้วกัน เขาจึงเริ่มจับคู่ตัวเองกับไส้เดือน อยู่ด้วยกันในบ้านเล็กๆแถวถนนเพชรเกษม และจากนั้นเขาก็เริ่มคิดที่จะต่อยอดสิ่งที่ไส้เดือนผลิตออกมา เมื่อมีปุ๋ย เขาก็ปลูกผักให้งอกงามได้แล้ว สไตล์การปลูกผักของลุงรีย์ ก็ง่ายๆ เหมือนกับที่เขาคิดเลี้ยงไส้เดือนนั่นเอง เขาเริ่มจากว่า “สิ่งที่เราปลูกก็อาจจะเป็นสิ่งที่มาจากร้านส้มตำ เรากินเหลือ เราตัดรากแล้วก็เอามาปัก เราไปร้านข้าวหมูแดง เรากินเหลือ เราก็เอามาปัก คือเราอาจจะไม่ได้เริ่มจากเมล็ด แต่เราเริ่มตรงขั้นตอนที่อีกนิดหนึ่งเราก็ได้กินอีก เพราะฉะนั้นในตรงนี้มันก็ยิ่งทำให้เราสำรวจตัวเองมากขึ้นว่า วันนี้เราจะไปกินอะไร เรากินอะไรดีนะ วันนี้เราขาดผักอะไร มันเริ่มมีแพลนในหัวว่า ปลูกผักไม่ได้ยาก เราเลือกกระบวนการที่เหมาะกับเราแล้วเราได้กินมัน แล้วผักที่เราปลูก บางอันที่เราตัด มันก็งอกอีก มันได้กินตั้งหลายรอบ มันไม่ใช่ภาระ ถ้ามันเริ่มเป็นภาระของเรา ผมไม่ทำ การปลูกมันเป็นอะไรที่คนเมืองสุดๆ แค่หยิบผัก ปลูกลงดินแล้วมันก็งอก”





ปลูกผักแล้วเจอเพลี้ย เจอหนอน ก็ต้องใช้จุลินทรีย์มาช่วย
จนสามารถปลูกผักร็อคเก็ตได้งอกงาม เหมือนมีตู้เย็นธรรมชาติอยู่ในบ้าน
ลุงรีย์ได้ต่อยอดวงจรความเป็นเกษตรกรของเขาเรื่อยๆ จากปลูกผักที่งอกงามอยู่ดีๆ แล้วมีเพลี้ยกิน จึงต้องไปศึกษาเรื่องจุลินทรีย์ต่อ จนเชี่ยวชาญ และปลูกผักดังๆ แพงๆ อย่างผักร็อคเก็ตได้งอกงาม ที่ลุงรีย์บอกว่า “ชอบกินแล้วเวลาไปซื้อมันไม่ค่อยหอม เราก็มาปลูกลงดิน ปรากฏว่าตัดแล้ว ก็ยังงอกออกมาได้ตั้ง 4 รอบ แล้วบางทีตู้เย็นมันเต็มแล้ว แต่เรามีตู้เย็นธรรมชาติอยู่ในบ้านเรา อยากจะกินก็เดินไปตัด เรามีคาเฟ่เล็กๆ ด้วยก็ตัดให้คนมาทานเห็นกันเลย มันเกิดประสบการณ์ว่า ความจริงใจสื่อสารต่อกันได้ว่า ผักปลอดภัยนะ เราปลูกผักอยู่หลังบ้าน พอได้วางแผนตั้งแต่ปลูกผักมากขึ้น เราก็คิดต่อว่า แล้วถ้าเราเริ่มมีไก่สักตัว มันพอกี่คนกิน พอมีไก่สักสี่ห้าตัว เริ่มมีไข่ เริ่มมีผัก”






บ้านของลุงรีย์เริ่มมีทุกอย่างครบ ผัก ไข่ เห็ด ที่ไม่ต้องออกไปซื้อได้เลย
หลังจากได้มูลไส้เดือนมาปลูกผักแล้ว มูลไส้เดือนนี่ล่ะยังมาเพาะเห็ดเพิ่มได้อีก ลุงรีย์คิดต่อยอดทันทีว่า“เพาะเห็ดเพิ่มอีกหน่อยมั้ย เรามีมูลไส้เดือนเป็นตัวตั้งต้น อยู่ๆ เอาไปใส่ต้นไม้ทุกต้นหมดก็เสียดาย มีผัก มีไข่ มีเห็ด เราเริ่มไม่ได้ออกไปนอกบ้านสัก 2 อาทิตย์ก็ยังมีอาหารกินแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ เมื่อก่อนมันไม่ได้รู้สึก แต่พอเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เราสบายกว่าเพื่อนเลย เพื่อนมาบ้านถาม ไม่ได้ออกไปไหนเลยเหรอ เออ! เพิ่งรู้ตัว ไม่ได้ออกไปไหนก็มีอะไรกิน แล้วบ้านอยู่ไหน ต่างจังหวัดเหรอ บ้านอยู่ไหน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง แต่มีความมั่นคงทางอาหาร มีผักกินอยู่เหมือนเดิม มีไข่กินอยู่เหมือนเดิม ยิ่งตอกย้ำเรามากขึ้น เรามั่นใจว่าที่เราทำมา เราได้เริ่มก่อนคนอื่นและเรามาถูกทางแล้ว”







ในที่สุดลุงรีย์ค้นพบปรัชญาไส้เดือนของตัวเอง “ไส้เดือนเชื่อมคนเข้าด้วยกัน”
เหมือนที่เขากำลังเปิดเวิร์คช็อปสอนเลี้ยงไส้เดือน อยู่ในทุกวันนี้
“ไส้เดือนเป็นเพื่อนที่โตมาด้วยกัน เจ็ดกว่าปีที่ผ่านมา เรากับไส้เดือนช่วยกันจัดการเศษผักผลไม้ และสร้างปุ๋ยในเวลาที่รวดเร็วมาก แค่เดือนเดียวได้ปุ๋ยมาเพียบเลย แล้วไส้เดือนก็ออกลูกเป็นไข่ แล้วก็มีน้องๆ เกิดขึ้นมา เราก็ทำให้เขาโต ไส้เดือนเหมือนเครื่องจักรชีวภาพอย่างหนึ่งคือ เขาไม่ค่อยนอน อาจจะทำงานไปเรื่อยๆ เพราฉะนั้นปรัชญาไส้เดือนที่ผมค้นพบคือ ผมก็ไม่ได้ทำทุกอย่างได้อย่างโดดเด่น เป็นเหมือนเป็ดยักษ์ตัวใหญ่ แต่เราอาจจะเลื้อยเหมือนไส้เดือนไปเชื่อมคนเข้าด้วยกัน เราจัดอบรบง่ายๆ ที่บ้าน มารู้ตัวอีกที เราจัดอบรบมา 80 รุ่นแล้ว และถ้าเขาเลี้ยงไส้เดือนทุกคน แล้วเขาเอาไส้เดือนมาคืนเราทั้ง 80 รุ่น เราก็ไม่รู้จะเอาไส้เดือนไปไว้ไหน แต่เขาเอาไข่มาคืนเรา เอาผักมาคืนเรา เราเพียงแค่ต้องเชื่อมห่วงโซ่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เกษตรกรจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องปลูกอะไรถ้าร้านอาหารไม่ได้บอก ร้านอาหาร เศษอาหารมีตั้งเยอะแยะ จะรู้ได้อย่างไรว่าเกษตรกรอยู่ตรงไหน เราเชื่อมโยงเหมือนไส้เดือน เลื้อยไปบอกคนนี้แล้วเชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน  นี่คือประโยชน์ของผมที่เรารู้สึกว่าไส้เดือนกับเรามีอะไรที่ต้องทำร่วมกันเป็นภารกิจร่วมกัน”





สมมุติว่าอยากจัดการเศษผัก เศษอาหารบ้าง แต่ยังไม่พร้อมกับน้องไส้เดือน
ลุงรีย์บอกว่า “ถ้ายังไม่พร้อมจับไส้เดือน แสดงว่าเรายังไม่ได้ปลูกพืชอะไรมาก ยังอยู่ในหมวดที่เป็นแม่บ้านสร้างเศษอาหาร เศษขยะ เราหมักขยะเองก่อนได้ มีเครื่องมือ มีถังหมักที่ถอดรูปแบบมาจากโบกาฉิของญี่ปุ่น เรากลบเศษอาหาร กลบด้วยมูลไส้เดือน จุลินทรีย์ต่างๆ แล้วก็ใช้เวลาทิ้งไว้ เป็นการแยกเศษขยะ สุดท้ายครบ 1-2 เดือน เราก็ได้ปุ๋ยมาแล้ว พอเริ่มมีปุ๋ย มีดินเยอะ อาจจะเริ่มเลี้ยงไส้เดือน แอดวานซ์ขึ้นได้”

พอได้เข้าใจไส้เดือน สิ่งที่ไส้เดือนเชื่อมโยง จากเศษอาหาร มาเป็นปุ๋ย มาเป็นผักที่เจริญงอกงามแล้ว ภาพของไส้เดือนในใจเราจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป บวกกับนิสัยที่มองทุกอย่างสัมพันธ์กัน และเอื้อต่อกันได้ ทำให้เราเสียดายของขึ้น ไม่อยากทิ้งอะไร และกลับมาที่เราอยากพอเพียง อยากมีความสุขกับสิ่งที่เรากินและอยู่ไปด้วยกันได้ เหมือนที่ลุงรีย์บอกว่า

“เราอาจจะเลี้ยงไส้เดือน โดยที่เราแค่กวาดบ้าน เอาใบไม้มารวมกัน ก็เกิดไส้เดือน เราอาจจะบอกลูกว่า ไม่ต้องไปฆ่ามันนะ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีนะ ช่วยเราทำงานนะ วันหนึ่งเราอาจจะเริ่มจับใบไม้ไปปล่อยในกระถางต้นไม้ นี่คือไส้เดือนบ้าน แต่ถ้าอยากได้ปุ๋ยทันใจ ทำไมเกิดปุ๋ยออกช้าจัง เราเริ่มศึกษาลึกขึ้นว่า ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกันทำปุ๋ยดี ไส้เดือนพันธุ์ลายเสือ ทนร้อนทนหนาว อยู่ในกระถางดี ไส้เดือนพันธุ์บลูเวิร์มมีเมือกหอม มันก็เป็นความลึกซึ้งในไส้เดือนแต่ละชนิด ไส้เดือนที่ตกปลาดีก็ไส้เดือนไทย เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชีวิตได้”




สิ่งที่ลุงรีย์ได้สร้างมาตั้งแต่อายุ 24 จากที่เขาเคยเป็นคนทำงานบริษัท แล้วป่วย ไม่มีความสุข จนต้องถามตัวเองว่าจะทำยังไงให้ชีวิตบาลานซ์ขึ้น เขากล้าที่จะทำสิ่งไม่เคยทำ ทำคู่กับงานประจำไปก่อน จนสิ่งที่ทำกินเวลาของงานประจำ ทำให้ได้ออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เขาซ้อม ฝึกฝนตัวเองไปทีละทักษะ ห่างจากคอมพิวเตอร์ และตอบคำถามตัวเองได้ว่าต้องการอะไรในชีวิต

สิ่งที่ผมเชื่อจริงๆ เลยคือ การที่โลกจะดีขึ้น มันไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคน แค่เราเริ่มจากจัดการขยะที่บ้าน จัดการสิ่งที่เราก่อเกิด สิ่งที่มันกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังไม่ต้องไปยุ่งกับของๆ ใคร หรือมันไปกระทบต่อใคร มันย่อมเกิดประโยชน์ต่อตัวเราเอง อันนี้คือความเชื่อที่ผมมั่นใจว่าเราทำได้ ยังไม่ต้องทำเรื่องใหญ่โต แรงกระเพื่อมเรานี้ มันจะทำให้โลก หรือสิ่งที่เรายืนอยู่ทุกวัน มันน่าอยู่ขึ้น สิ่งที่เรายืนอยู่ทุกวันก็คือจุดยืนและมันก็จะทำให้เรามีจุดยืนที่เข้มแข็งพอที่จะร่วมกันเปลี่ยนโลก”



Ecotopia เชื่อและมั่นใจในหัวใจของลุงรีย์เลยว่า เขามีฝันนั้นที่ตั้งใจไว้แน่ๆ ที่เขาบอกไว้ว่า “จริงๆ โฟกัสเรื่องของความสุข แต่รายได้มันต้องแน่นอนอยู่แล้ว มันต้องมี เลี้ยงแมวยังไงไม่ให้เหนื่อย เคลื่อนตัวให้น้อยที่สุด ขอมีบ้าน ไก่ ผัก ไส้เดือน เห็ด แล้วมีคนที่เรารัก มีรายได้เลี้ยงตัวเองแล้วก็มีความสุข ไม่ต้องซับซ้อน 40 ก็คงเป็นลุงรีย์จริงๆ”

พบกับผลิตภัณฑ์จาก UncleRee Farm และความเชื่อของเขาได้ที่ Ecotopia ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

YOU MAY ALSO LIKE